คลินิกทันตกรรมอโศก สกายเทรน
ทุกคนที่ทำงานประจำกับหน่วยงานที่เป็นบริษัทห้างร้านคุ้นเคยกันดีว่า ในแต่ละเดือนเราต้องถูกนายจ้างหักเงินสมทบประกันสังคมตามกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า ต้องหักเงินกี่เปอร์เซ็นต์ และนายจ้างจ่ายสมทบกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเงินก้อนนี้ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ศึกษาถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ หรือรู้เพียงคร่าวๆ ในบางเรื่อง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทันตกรรม ในความเป็นจริงก็คือ ทำฟันใช้สิทธิประกันสังคมได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ตามเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน
สิทธิประกันสังคมด้านทันตกรรมมีอะไรบ้าง
ตามที่ระบุไว้ในพรบ.ประกันสังคม ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับในกรณีเจ็บป่วยด้านทันตกรรมในกรณีต่อไปนี้ คือ
1. ถอนฟัน
2. อุดฟัน
3. ขูดหินปูน
นับว่าเป็นการคุ้มครองครอบคลุมทั่วไปเกี่ยวกับด้านทันตกรรมที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้บริการอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว และรวมไปถึงการทำทันตกรรมประดิษฐ์ (ฟันปลอม) หากมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป
เงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิประกันสังคมด้านทันตกรรม
1. ต้องเป็นบุคคลที่มีประกันตนตามพรบ.ประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39
2. เป็นผู้ที่ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ในช่วง 15 เดือนก่อนเข้ารับบริการด้านทันตกรรม
เงื่อนไขข้อ 2 นี้ดีตรงที่ แม้ก่อนหน้านี้จะไม่ได้ส่งประกันสังคม เพราะว่างงานหลายเดือน ก็ยังสามารถใช้สิทธิเบิกค่าทันตกรรมได้ เนื่องจากคุ้มครอง 6 เดือนหลังลาออกจากงานอีกด้วย
วงเงินด้านทันตกรรมที่สามารถเบิกทดแทนจากประกันสังคมได้
จากสิทธิคุ้มครองการเบิกประกันสังคม 3 ประเภท มีรายละเอียดวงเงินคุ้มครองดังนี้
1. วงเงินไม่เกิน 900 บาท/ปี สำหรับกรณีขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน รวมถึงผ่าฟันคุด
2. ค่าฟันปลอมและค่ารักษาต่อเนื่องอีก 5 ปีหลังจากใส่ฟันปลอม มีรายละเอียดดังนี้
2.1 ไม่เกิน 1,300 บาท/5 ปี สำหรับฟันปลอมแบบถอดได้ 1-5 ซี่ แต่ถ้าจำนวนฟันปลอมมากกว่า 5 ซี่ เบิกได้ไม่เกิน 1,500 บาท/5 ปี
2.2 ไม่เกิน 2,400 บาท/5 ปี กรณีเป็นฟันปลอมทั้งชุด โดยแยกเป็นปากบนหรือปากล่าง
2.3 ไม่เกิน 4,400 บาท/5 ปี กรณีฟันปลอมทั้งปากบนและปากล่าง คือฟันปลอมทั้งปาก
การเบิกค่าทันตกรรมผ่านสิทธิประกันสังคมต้องทำฟันที่ไหน
อาจมีการเข้าใจผิดว่า ต้องเป็นโรงพยาบาลรัฐเท่านั้นจึงจะสามารถใช้เงินประกันสังคมได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะรักษาด้านทันตกรรมที่ใด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน ตลอดจนคลินิกทันตกรรมทั่วไปที่พรบ.ประกันสังคมระบุไว้ ก็สามารถใช้สิทธินี้ได้
คนไข้ต้องจ่ายเงินสำรองค่าทันตกรรมไปก่อนใช่หรือไม่
ในอดีตนั้น คนไข้ที่เข้ารักษาด้านทันตกรรม จะต้องชำระค่าทันตกรรมไปก่อนแล้วเอาใบเสร็จไปดำเนินการเบิกเงินประกันสังคมคืนมา แต่ปัจจุบันนี้ มีเงื่อนไขใหม่ก็คือ สามารถใช้เงินประกันสังคมเข้ารักษาด้านทันตกรรมได้เลย โดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน ทั้งนี้ ต้องเช็คก่อนว่า มีสถานพยาบาลไหนบ้างที่เข้าร่วมโครงการกับประกันสังคม ซึ่งแต่ละสถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนจะมีสัญญลักษณ์ระบุไว้ในที่ที่สามารถเห็นได้ว่า “สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย” ซึ่งนับว่าสะดวกกับคนไข้เป็นอย่างมาก และปัจจุบันนี้ มีสถานรักษาพยาบาลด้านทันตกรรมได้เข้าร่วมโครงการแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 แห่ง
อนึ่ง กรณีที่ไม่ต้องสำรองจ่ายค่าทันตกรรม คือ กรณีทั่วไป ขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน แต่ถ้าเป็นกรณีทำฟันปลอมนั้น ยังคงใช้หลักการเดิมอยู่คือ สำรองจ่ายก่อนแล้วเบิกคืนในภายหลัง
คนไข้ของคลินิกทันตกรรมอโศก สกายเทรน
คลินิกทันตกรรมอโศก สกายเทรน เป็นอีกหนึ่งสถานพยาบาลด้านทันตกรรมที่เข้าร่วมโครงการกับประกันสังคม ดังนั้น คนไข้ที่เลือกรักษาฟัน ไม่ว่าจะเป็นการขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน ผ่าฟันคุดที่นี่ จึงได้รับความสะดวก เพราะไม่ต้องสำรองจ่ายค่าทำฟันเลย
ทำฟันปลอมที่ต้องสำรองจ่ายก่อน ต้องเบิกค่าประกันสังคมอย่างไร
หลังจากใช้บริการทันตกรรมแล้ว ท่านสามารถติดต่อรับเงินคืนด้วยตัวเองหรือให้คนอื่นเป็นตัวแทนยื่นเอกสารหลักฐานแทนก็ได้ โดยต้องมีการมอบฉันทะ รับรองเอกสารสำคัญที่ไปยื่นให้เรียบร้อย โดยใช้เอกสารดังต่อไปนี้
1. ใช้ใบเสร็จที่ต้องนำไปเบิกเงินภายใน 2 ปีตั้งแต่ใช้บริการด้านทันตกรรม
2. นอกจากใบเสร็จรับเงินค่าทำฟันที่มีอายุไม่เกิน 2 ปีแล้ว ยังต้องใช้หลักฐานใบรับรองแพทย์ เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา เป็นหลักฐานประกอบ
3. แบบฟอร์มการขอรับประโยชน์ทดแทน
4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของเราที่มีชื่อบัญชีและเลขที่บัญชี เพื่อให้ทางประกันสังคมโอนเงินให้หลังจากได้รับอนุมัติเงินคืนแล้ว ทั้งนี้ ทางประกันสังคมได้อำนวยความสะดวก กำหนดธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยให้ใช้ได้ทุกธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
จะเห็นได้ว่า การจ่ายเงินประกันสังคมนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ทำงานเอง โดยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เป็นสวัสดิการที่รัฐวางมาตรการเพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมมือกัน เพื่อคุ้มครองยามจำเป็นต้องใช้จ่ายเมื่อเจ็บป่วยไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือด้านทันตกรรม ดังนั้น นอกจากจ่ายประกันสังคมทุกเดือนแล้ว ทุกคนควรศึกษาเงื่อนไขการคุ้มครองเพื่อไม่ต้องยุ่งยากเมื่อต้องการใช้สิทธิ์ดังกล่าว